ความเชื่อโบราณ กับการเลี้ยงเด็กทารก

4016 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ความเชื่อโบราณ กับการเลี้ยงเด็กทารก

 ความเชื่อโบราณ กับการเลี้ยงเด็ทารก

หากพูดถึงในยุคสมัยก่อน ความก้าวหน้าทางการแพทย์และการพยาบาล ยังเข้าไม่ถึงในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลออกไป ทำให้ผู้ป่วยที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารไม่ได้รับความช่วยเหลือ เยียวยาอย่างเต็มที่ทำให้ประสบปัญหาเกี่ยวกับการรอดชีวิต และความสุขในการดำเนินชีวิตน้อยลง การผดุงครรภ์ก็เช่นกัน เนื่องจากโรงพยาบาลอยู่ห่างไกลจากชุมชนมาก ทำให้ชาวบ้านต้องพึ่งหมอบ้านที่มีความรู้ในการดูแลรักษาและบริบาลสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ ขณะคลอดจวบจนหลังคลอดและการเลี้ยงดูเด็กทารก ซึ่งจะเรียกหมอผู้ที่ให้การรักษานี้ว่า “ หมอตำแย” ซึ่งจะสามารถรักษาอาการผิดปกติของแม่และเด็กได้ โดยจะขอยกเอาตัวอย่างอาการไม่พึงประสงค์ที่มักจะเกิดขึ้นในเด็กทารก กับการรักษาโดยความเชื่อโบราณของหมอตำแยในสมัยก่อน

 อาการท้องอืดในเด็กแรกเกิด

เด็กที่มีอาการท้องอืด หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า พุงขึ้น จะร้องไห้ ออดอ้อน นอนไม่หลับ พ่อแม่ก็จะเอามหาหิงคุ์ทาทั่วบริเวณท้อง จับให้เด็กนอนคว่ำ ไม่ช้าเด็กจะหายท้องอืด แต่ถ้าเด็กยังร้องไห้ไม่ยอมหยุด ไม่ยอมหลับนอนหรือหลับไปชั่วครู่แล้วผวาตื่นร้องขึ้นมาอีกเชื่อกันว่าเป็นเพราะแม่ซื้อหรือผีมาหยอกเด็ก ก็จะให้หมอทำพิธีเสกข้าวสารซัดรอบๆบริเวณบ้าน หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ซัดสาร เพื่อขับไล่ผีให้ออกจากบ้าน โดยพูดดังๆว่า”ฟาดเคราะห์ไป “ แล้วว่าคาถา มีใจความว่า “ แม่ผีสาง แม่นาง แม่ซื้อ ลุกเจ้าเป็นลูกเราแล้ว อย่ามาหยิก อย่ามาข่วน อย่ามารบกวนให้ร้าย อย่ามากวนให้ได้ทุกข์ได้ไข้ เราจะเลี้ยงดูไว้ให้อยู่เป็นสุข สนุกสบาย อยู่กับเราไปจนแก่เฒ่า ถือไม้ยอดทอง กระบองยอดเพชร “ กล่าวแล้ว ก้(ก็)ลงจากบ้านเอาข้าวสารซัดรอบๆ บริเวณบ้าน เป็นอันเสร็จพิธี

 สำหรับการรักษาหรือดูแลสำหรับแพทย์แผนปัจจุบัน คุณหมอจะแนะนำให้ปฏิบัติดังนี้

หลังจากที่ลูกกินนมเสร็จแล้ว ทำให้ลูกเรอด้วยการอุ้มลูกพาดบ่า คางเกยไหล่ และลูบหลังลูกเบา ๆ (ลูบลงอย่างเดียว) ประมาณ 10-20 นาที หรือจับลูกนั่งตัก โดยใช้มือประคองช่วงคอให้โน้มไปข้างหน้า แล้วลูบหลัง หรือจับลูกนอนคว่ำพาดบนตัก ใช้มือประคองยกหัวลูกให้สูงกว่าหน้าอก แล้วค่อย ๆ ใช้มืออีกข้างลูบหลัง

หรือ นวดท้องให้ลูก โดยจับลูกนอนหงาย และใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างค่อย ๆ กดบริเวณหน้าอกไล่ลงมาใต้สะดือ แล้วหมุนมือวนตามเข็มนาฬิกาประมาณ 2-3 ครั้ง เพื่อช่วยไล่ลม ลดอาการท้องอืด และช่วยให้ระบบหมุนเวียนของลำไส้ดีขึ้นค่ะ

 

 อาการเด็กร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุ

อาการที่เด็กร้องไห้โดยไม่มีอาการเจ็บไข้ได้ป่วยเลย ความเชื่อของคนโบราณ เชื่อว่า เป็นเพราะผีมาหลอกและหลอกหลอนเด็ก ทำให้เด็กตกใจกลัวจึงร้องไห้ไม่หยุด แก้อาการโดยให้หมอตำแยหรือคนที่มีความรู้เรื่องนี้ทำพิธี “ พ่นผีป่า” โดยให้ตั้งนะโม 3 จบ แล้วว่า “ อิติ ตะวะ มิตัง ปิสา อิติ สัพพะโย มุสิกะตา อิติสัพพัญญู อิติปิโสภะคะวา ” 3 จบเช่นกัน แล้วเป่าลงที่กระหม่อมเด็ก พร้อมทั้งเอาหัวไพลมาหั่นเป็นแว่นเล็กๆ ผูกเข้ากับด้ายไปผูกที่ข้อมือเด็กไว้กันผี เพราะเชื่อว่าผีจะกลัวหัวไพล แล้วจะไม่กล้าเข้าใกล้ตัวเด็ก หรือหมอบางคนอาจจะใช้ปากไปกัดใบนมแมวมาจากต้น แล้วเคี้ยวพลางเดินเข้าไปในบ้านที่เด็กร้อง พร้อมทั้งท่องคาถาว่า ” อะอึ” เดินเข้าไปใกล้คนที่กำลังอุ้มเด็ก ตวาดเสียงดังว่า “ไป” ผีจะตกใจแล้วออกจากบ้านไปในทันที เด็กก้จะหยุดร้องแล้วนอนหลับเป็นปกติ

 ซึ่งอาการดังกล่าวแพทย์แผนปัจจุบันจะเรียกว่า โคลิค
 ในส่วนของการรักษาอาการโคลิค จากการศึกษาทางการแพทย์พบว่า มี 2 วิธีหลักด้วยกัน
1. ใช้ยาในการรักษา
การใช้ยาในการรักษาโคลิคคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรซื้อยาหรือสมุนไพรมาใช้เอง แต่ควรพาลูกไปพบกุมารแพทย์เพื่อขอคำแนะนำและรับยาสำหรับการรักษาภาวะโคลิคโดยเฉพาะ

2. ไม่ใช้ยาในการรักษา
วิธีการรักษาโคลิคโดยไม่ใช้ยามีหลากหลายวิธี เช่น การเปลี่ยนนมสำหรับทารกเป็นสูตรย่อยง่าย หรือใช้โพรไบโอติกสายพันธุ์เฉพาะในการปรับสมดุลภายในลำไส้และท้องของทารก¹

แต่การเปลี่ยนสูตรนมสำหรับทารก อาจเป็นเรื่องที่ยากสำหรับคุณพ่อคุณแม่ จากคำแนะนำของแพทย์ได้บอกไว้ว่า ในช่วงแรกทารกควรรับประทานนมแม่ให้ได้นานที่สุด และการที่ทารกทานนมผงหรือปรับเปลี่ยนสูตรนมผงนั้นเป็นเรื่องที่ไม่แนะนำ เพราะอาจทำให้ทารกปฏิเสธการดื่มนมแม่และนมสูตรใหม่ที่คุณแม่เปลี่ยนได้ ดังนั้นการใช้ไพรไบโอติกสายพันธุ์เฉพาะจึงเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยและนิยมใช้ในการบรรเทาอาการโคลิคมากกว่า

 

***แหล่งข้อมูลออนไลน์ที่สามารถเข้าถึง http://www.ttmed.psu.ac.th/blog.php?p=165

***** https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/1729148

**เขียนบทความโดย: พทป.พิมพ์วิภา แพรกหา โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

*แหล่งอ้างอิง: หนังสือวัฒนะรรมเกี่ยวกับการเกิดและการบริบาลทารกโดยหมอตำแย ของชาวบ้านตำบลพนางตุง อำเภอ ควนขนุน จังหวัดพัทลุง สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยทักษิณ

*** เครดิตภาพโดย 
 
 http://oknation.nationtv.tv/ blog/winsstars/2012/02/23/ entry-1
 

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้